เมนู

ก็กถาพรรณนาพุทธวงศ์ ควรที่จะมัจจะคนที่
ต้องตาย เป็นผู้รู้จะต้องละกิจอื่นเสียให้หมดแล้ว ฟัง
ก็ดี กล่าวก็ดี ในที่นี้ได้ตลอดกาลเป็นนิจ โดยเคารพ
ด้วยว่ากถานี้ แต่งได้แสนยากแล.

ควรกำหนดพุทธวงศ์ก่อน เพราะในคาถาปรารภนั้น ข้าพเจ้ากล่าว
ไว้ว่า กถาพรรณนาพุทธวงศ์ จักเป็นสาระดังนี้ ก็การกำหนดในพุทธวงศ์นั้น
มีดังนี้ การกล่าวประเพณีอย่างพิศดาร โดยปริเฉทมีกัปปปริเฉทเป็นต้น อันเกิด
ขึ้น แต่พระพุทธเจ้า 25 พระองค์ ซึ่งเสด็จอุบัติใน 4 อสงไขยกำไรแสน
กัป นับถอยหลังแต่กัปนี้ไป พึงทราบว่า ชื่อว่า พุทธวงศ์.

พุทธวงศ์กำหนดด้วยปริเฉท


ก็พุทธวงศ์นั้น ท่านกำหนดไว้เป็น

ปริเฉท 22 ปริเฉท

ที่มาตามบาลี
เหล่านี้คือ
1. กัปปปริเฉท ตอนว่าด้วย กัป
2. นามปริเฉท ตอนว่าด้วย พระนาม
3. โคตตปริเฉท ตอนว่าด้วย พระโคตร
4. ชาติปริเฉท ตอนว่าด้วย พระชาติ
5. นครปริเฉท ตอนว่าด้วย พระนคร
6. ปิตุปริเฉท ตอนว่าด้วย พระพุทธบิดา
7. มาตุปริเฉท ตอนว่าด้วย พระพุทธมารดา
8. โพธิรุกขปริเฉท ตอนว่าด้วย ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้
9. ธัมมจักกัปวัตตนปริเฉท ตอนว่าด้วย การประกาศพระธรรมจักร

10. อภิสมยปริเฉท ตอนว่าด้วย การตรัสรู้
11. สาวกสันนิบาตปริเฉท ตอนว่าด้วย การประชุมพระสาวก
12. อัคคสาวกปริเฉท ตอนว่าด้วย พระอัครสาวก
13. อุปัฏฐากปริเฉท ตอนว่าด้วย พุทธอุปัฏฐาก
14. อัครสาวิกาปริเฉท ตอนว่าด้วย พุทธอัครสาวิกา
15. ปริวารภิกขุปริเฉท ตอนว่าด้วย ภิกษุบริวาร
16. รังสิปริเฉท ตอนว่าด้วย พุทธรังสี
17. สรีรปริมาณปริเฉท ตอนว่าด้วย ขนาดพระพุทธสรีระ
18. โพธิสัตตาธิการปริเฉท ตอนว่าด้วย บารมีของพระโพธิสัตว์
19. พยากรณปริเฉท ตอนว่าด้วย การพยากรณ์
20. โพธิสัตตปณิธานปริเฉท ตอนว่าด้วย การตั้งความปรารถนา
ของพระโพธิสัตว์

21. อายุปริเฉท ตอนว่าด้วย พระชนมายุ
22. ปรินิพพานปริเฉท ตอนว่าด้วย การเสด็จปรินิพพาน.
ก็แม้ว่าวาระมากวาระที่ท่านมิได้ยกไว้โดยบาลี ก็พึงนำมาไว้ในกถานี้
ด้วย. วาระนั้น เป็นอันท่านกำหนดไว้เป็นปริเฉท 10 ปริเฉท คือ
1. อคารวาสปริเฉท ตอนว่าด้วย การอยู่ครองเรือน
2. ปาสาทัตตยปริเฉท ตอนว่าด้วย ปราสาท 3 ฤดู
3. นาฏกิตถีปริเฉท ตอนว่าด้วย สตรีนักฟ้อน
4. อัคคมเหสีปริเฉท ตอนว่าด้วย พระอัครมเหสี
5. ปุตตปริเฉท ตอนว่าด้วย พระโอรส
6. ยานปริเฉท ตอนว่าด้วย พระราชยาน

7. อภินิกขมนปริเฉท ตอนว่าด้วย อภิเนษกรมณ์
8. ปธานปริเฉท ตอนว่าด้วย ทรงบำเพ็ญเพียร
9. อุปัฏฐากปริเฉท ตอนว่าด้วย พุทธอุปัฏฐาก
10. วิหารปริเฉท ตอนว่าด้วย พุทธวิหาร
แต่ครั้นแสดงวาระมากวาระ แม้นั้น ตามฐาน
แล้ว ก็จักกล่าวแต่โดยสังเขปในที่นั้น ๆ.

พุทธวงศ์นั้น ข้าพเจ้ากำหนดไว้ดังนี้ว่า
พุทธวงศ์นี้ใครแสดง แสดงที่ไหน แสดงเพื่อ
ประโยชน์แก่ใคร แสดงเพื่ออะไร แสดงเมื่อไร คำ
ของใคร ใครนำสืบมา.

ครั้นกล่าววิธีนี้โดยสังเขปหมดก่อนแล้วภายหลัง
จึงจักทำการพรรณนาความแห่งพุทธวงศ์.

ในคาถานั้น บทว่า เกนายํ เทสิโต ได้แก่
ถามว่า พุทธวงศ์นี้ใครแสดง.
ตอบว่า พระตถาคต ผู้สำรวจด้วยพระญาณ อันไม่ติดขัด ในธรรม
ทั้งปวง ทรงทศพลญาณ ทรงแกล้วกล้าในเวสารัชญาณ 4 จอมทัพธรรม
เจ้าของแห่งธรรม ผู้เป็นสัพพัญญู สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว.
ถามว่า ทรงแสดงที่ไหน.
ตอบว่า พระตถาคตเจ้า ซึ่งกำลังเสด็จจงกรม เหนือรัตนจงกรม
อันเป็นจุดที่ชุมนุมดวงตาของเทวดาและมนุษย์ งดงามน่าทอดทัศนายิ่งนัก ทรง
แสดง ณ นิโครธารามมหาวิหาร ใกล้กบิลพัศดุ์มหานคร.

ถามว่า และทรงแสดงเพื่อประโยชน์แก่ใคร.
ตอบว่า ทรงแสดงเพื่อประโยชน์แก่พระประยูรญาติ 82,000 และ
แก่เทวดาและมนุษย์หลายโกฏิ.
ถามว่า ทรงแสดงเพื่ออะไร.
ตอบว่า ทรงแสดงเพื่อช่วยสัตว์โลกให้ข้ามโอฆะทั้ง 4.
ถามว่า ทรงแสดงเมื่อไร.
ตอบว่า ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับไม่ประจำอยู่ 20
พรรษา ในปฐมโพธิกาล ที่ใด ๆ เป็นที่ผาสุก ก็เสด็จไปประทับอยู่ ณ ที่นั้น ๆ
นั่นแหละ คือ
1. พรรษาแรก ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนะ ให้
เหล่าพรหม 18 โกฏิดื่มน้ำอมฤต ประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนะ มิคทายวัน กรุง
พาราณสี.
2. พรรษาที่ 2 ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน มหาวิหาร กรุง-
ราชคฤห์.
3. พรรษาที่ 3 ที่ 4 ก็ประทับอยู่ พระเวฬุวันมหาวิหารนั้น
เหมือนกัน.
4. พรรษาที่ 5 ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวันกรุงเวสาลี.
5. พรรษาที่ 6 ประทับอยู่ ณ มกุลบรรพต.
6. พรรษาที่ 7 ประทับอยู่ ณ ดาวดึงส์พิภพ.
7 พรรษาที่ 8 ประทับอยู่ ณ เภสกฬาวัน สุงสุมารคิรี แคว้น
ภัคคะ.

8. พรรษาที่ 9 ประทับอยู่ ณ กรุงโกสัมพี.
9. พรรษาที่ 10 ประทับอยู่ ณ ราวป่าปาลิเลยยกะ.
10. พรรษาที่ 11 ประทับอยู่ ณ บ้านพราหมณ์ ชื่อนาฬา.
11. พรรษาที่ 12 ประทับอยู่ ณ เมืองเวรัญชา.
12. พรรษาที่ 13 ประทับอยู่ ณ จาลิยบรรพต.
13. พรรษาที่ 14 ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร.
14. พรรษาที่ 15 ประทับอยู่ ณ กบิลพัศดุ์มหานคร.
15. พรรษาที่ 16 ทรงทรมาน อาฬวกยักษ์ ให้สัตว์ 84,000 ดื่ม
น้ำอมฤต ประทับอยู่ ณ เมืองอาฬวี.
16. พรรษาที่ 17 ประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์.
17. พรรษาที่ 18 ประทับอยู่ ณ จาลิยบรรพต.
18. พรรษาที่ 19 ก็ประทับอยู่ ณ จาลิยบรรพตเหมือนกัน.
19. พรรษาที่ 20 ประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์นั่นเอง.
ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้า
ประทับอยู่ไม่ประจำ 20 พรรษาในปฐมโพธิกาล ที่ใด ๆ เป็นที่ผาสุก ก็เสด็จ
ไปประทับอยู่ ณ ที่นั้น ๆ นั่นแล.
แต่นับตั้งแต่นั้นไป ก็ประทับอยู่เป็นประจำ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
และบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี.
ก็เมื่อใด พระศาสดาเป็นพระพุทธเจ้า เสด็จจำพรรษาแรก ณ ป่า
อิสิปตนะ มิคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ออกพรรษา ปวารณาแล้ว เสด็จ

ไปยังตำบลอุรุเวลา จำพรรษาไตรมาส ณ ที่นั้น ทรงทรมาณชฎิลสามพี่น้อง
ทำภิกษุจำนวนหนึ่งพันรูปเป็นบริวาร แล้วเสด็จไปกรุงราชคฤห์กลางเดือน
ผุสสมาส ประทับอยู่ ณ ที่นั้นสองเดือน เมื่อนั้น เมื่อพระองค์เสด็จออกจาก
กรุงพาราณสี ก็กินเวลาเข้าไปห้าเดือน. ล่วงฤดูหนาวไปสิ้นทั้งฤดู นับแต่วัน
ที่ท่านพระอุทายีเถระมาถึง ก็ล่วงไป 7-8 วัน. ก็ท่านพระอุทายีเถระนั้น ใน
ราวกลางเดือนผัคคุน [เดือน 8] ก็ดำริว่า ฤดูเหมันต์ล่วงไปทั้งฤดู ฤดูวสันต์
ก็มาถึงแล้ว เป็นสมัยควรที่พระตถาคตจะเสด็จไปกรุงกบิลพัศดุ์ได้ ท่านครั้นดำริ
อย่างนี้แล้ว จึงกล่าวพรรณาการเสด็จไปด้วยคาถา 10 คาถา เพื่อประโยชน์
แก่องค์พระศาสดาจะเสด็จไปยังพระนครแห่งสกุล. ครั้งนั้น พระศาสดาทรง
สดับคำของท่าน มีพระพุทธประสงค์จะทรงทำการสงเคราะห์พระประยูรญาติ
จึงแวดล้อมด้วยพระขีณาสพหมดด้วยกันสองหมื่นรูป คือ ที่เป็นกุลบุตรชาว
อังคะและมคธะหมื่นรูป ที่เป็นกุลบุตรชาวกรุงกบิลพัศดุ์หมื่นรูป นับจากกรุง-
ราชคฤห์ ถึงกรุงกบิลพัศดุ์ ระยะทาง 60 โยชน์ สองเดือนจึงถึง ได้ทรงทำ
ยมกปาฏิหาริย์ เพื่อให้พระญาติทั้งหลายถวายบังคม ณ กรุงกบิลพัสดุ์นั้น ครั้ง
นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพุทธวงศ์นี้.
ถามว่า คำของใคร.
ตอบว่า พระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว ไม่ทั่วไป
แก่พระสาวกและพระปัจเจกพุทธเจ้า.
ถามว่า ใครนำมาเล่า.
ตอบว่า อาจารย์นำสืบ ๆ กันมา จริงอยู่ พุทธวงศ์นี้อันพระเถระ
ทั้งหลายเป็นต้นอย่างนี้ คือ พระสารีบุตรเถระ พระภัททชิ พระติสสะ พระ

สิคควะ พระโมคคัลลีบุตร พระสุทัตตะ พระธัมมิกะ พระทาสกะ พระ-
โสณกะ พระเรวตะ นำสืบกันมาถึงสังคายนาครั้งที่ 3 แม้ต่อแต่นั้นไป ศิษยานุ-
ศิษย์ของพระเถระเหล่านั้นนั่นแหละ ก็ช่วยกันนำมา เหตุนั้น จึงควรทราบว่า
อาจารย์นำสืบ ๆ กันมาตราบเท่าปัจจุบันนี้ อย่างนี้ก่อน.
คาถานี้
พุทธวงศ์นี้ใครแสดง แสดงที่ไหน แสดงเพื่อ
ประโยชน์แก่ใคร แสดงเพื่ออะไร แสดงเมื่อไร คำ
ของใคร และใครนำสืบกันมา.

เป็นอันมีความตามที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว ด้วยกถามีประมาณเท่านี้.

นิทานกถา


พาหิรนิทาน


บัดนี้ จะพรรณาความแห่งพุทธวงศ์นั้น ที่นำกันสืบมาอย่างนี้ ก็
เพราะเหตุที่การพรรณาความนี้ จำต้องแสดงนิทาน 3 เหล่านี้คือ ทูเรนิทาน
อวิทูเรนิทาน และสันติเกนิทาน แล้วพรรณนา จึงชื่อว่าเป็นอันพรรณนาด้วย
ดี เเละชื่อว่า ผู้ที่ฟังนิทานนั้นรู้เรื่องได้ เพราะรู้มาตั้งแต่ต้นเหตุที่เกิด ฉะนั้น
ข้าพเจ้าจักแสดงนิทานเหล่านั้นแล้ว จึงจักพรรณนา.
ในนิทานนั้น พึงทราบปริเฉทตอนของนิทานเหล่านั้น เริ่มตั้งแต่ต้น
ก่อน การแสดงความโดยสังเขป ในนิทานนั้นดังนี้ ตั้งแต่พระมหาสัตว์
บำเพ็ญบารมี แทบเบื้องบาทของพระทศพลพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร จน
จุติจากอัตภาพเป็นพระเวสสันดรแล้ว บังเกิดในภพดุสิต กถาที่เป็นไปเพียง
เท่านั้นชื่อว่า ทูเรนิทาน.
ตั้งแต่จุติจากภพดุสิต จนเกิดพระสัพพัญญุตญาณ ที่โพธิมัณฑสถาน
กถาที่เป็นไปเพียงเท่านั้น ชื่อว่า อวิทูเรนิทาน.
ตั้งแต่ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ มหาโพธิมัณฑสถาน จนถึง
เตียงเป็นที่ปรินิพพาน ในระหว่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ใด ๆ ที่
นั้น ๆ เช่นว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร
อารามของท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดี กรุงสาวัตถี ว่าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน
กลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ และว่าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่า-
มหาวัน กรุงเวสาลีดังนี้ พึงทราบว่า ชื่อว่า สันติเกนิทาน.
การพรรณนาพาหิรนิทาน นิทานนอก 3 นิทาน คือทูเรนิทาน อวิทู-
เรนิทานและสันติเกนิทาน โดยสังเขปนี่แล เป็นอันจบด้วยนิทานกถาเพียงเท่านี้.
จบพาหิรนิทาน